
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ที่ไม่แน่นอน อาจส่งผลให้นักเรียน นักศึกษาเกิดความรู้สึกกระวนกระวายใจ กังวลเกี่ยวกับการเรียนและการสอบ กลัวเรียนไม่เข้าใจ ประสบความยากลำบากในการทำรายงานโดยเฉพาะงานกลุ่ม และทำข้อสอบได้ไม่ดีเท่าที่ตั้งใจ หรืออาจเกิดความหงุดหงิดเพราะไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของตน ไม่ว่าจะผู้ปกครอง ครูอาจารย์ หรือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
การต้องอยู่กับความไม่แน่นอน และความรู้สึกกังวลเหล่านี้ อาจนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย สิ้นหวังถึงอนาคตทางการเรียนและการทำงานของตนเอง บทความนี้ขอนำเสนอ 6 แนวทางการดูแลจิตใจตัวเองและการจัดการกับความเครียดจากการเรียนและการสอบในช่วงนี้ให้นักเรียน นักศึกษาเพื่อนำไปใช้ต่อไป

1. ถามตัวเองว่าเรารู้สึกอะไร แล้วรู้สึกแบบนี้เพราะอะไร
เราลองถามตัวเองว่าสิ่งที่เรารู้สึกตอนนี้คือความกังวล กลัวกับผลการสอบที่จะไม่ได้ตามที่หวังไว้รึเปล่า
แล้วลองถามต่อว่า ความคาดหวังนั้นเป็นความคาดหวังที่มาจากไหน เพื่อใคร บางทีเราคาดหวังว่าเราจะต้องทำให้ได้ดีที่สุด แต่คำว่าดีที่สุดนั้น ไม่ได้ดีที่สุดตามความเป็นจริงในเงื่อนไขของระยะเวลาในการเตรียมตัวที่เรามี แต่ต้องดีที่สุดในสายตาของผู้ปกครองหรือครูอาจารย์
เพราะเราอยากทำให้พวกเขาภูมิใจ ไม่ผิดหวัง การแบกรับความคาดหวังของผู้อื่นนั้นเพิ่มความเครียดให้เราอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและทำให้เราไม่สามารถยอมรับตนเองหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นจงพยายามปรับความคิดของตนว่า เมื่อผู้อื่นมีความคาดหวัง นั่นเป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา
- ภาวะที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ชั่วคราว เปลี่ยนแปลงได้ และไม่ได้เป็นตัวกำหนดอนาคต
ความรู้สึกหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ ความหงุดหงิดต่อสถานการณ์ที่คิดว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเรา ทำไมเราจึงต้องเผชิญกับเหตุการณ์นี้ เกิดเป็นความท้อแท้ เบื่อหน่าย สิ้นหวังต่ออนาคตได้
ความรู้สึกเหล่านี้ ทำให้เราลืมมองความจริงอีกข้อหนึ่งไปว่า ภาวะที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันเป็น ภาวะชั่วคราว
แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้เรารู้สึกและคิดทำนายล่วงหน้าว่ามันสามารถส่งผลกระทบในระยะยาว เช่น การไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ทำให้ให้กังวลต่อไปว่าจะไม่ได้ทำงานที่ต้องการและไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต อุปสรรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจทำให้เราคิดล่วงหน้าว่าอนาคตของจะไม่เป็นไปตามที่เราหวังไว้ แต่ในความเป็นจริงนั้นอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้
อุปสรรคในปัจจุบันไม่สามารถทำนายความล้มเหลวในอนาคตได้ ขณะเดียวกันความสำเร็จราบรื่นในปัจจุบันก็ไม่สามารถทำนายความสำเร็จ โดยเฉพาะความสุขของเราในอนาคตได้
สิ่งที่เราทำได้ คือ ทำปัจจุบัน “ภายใต้เงื่อนไขที่เรามี” ในแต่ละช่วงของชีวิตให้ดีที่สุด การเสียเวลาและโอกาสในปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่าหงุดหงิดและกังวลใจ แต่อย่าปล่อยให้อุปสรรคนี้ทำให้เราสิ้นหวัง ไม่พยายามหรือไม่ยอมที่จะเริ่มต้นอีกครั้ง


3. พยายามอยู่กับสิ่งที่ควบคุมได้
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและมีหลายๆอย่างที่อยู่เหนือความควบคุมของเราอาจทำให้เรายิ่งรู้สึกเครียดและกังวลใจ
ขอให้เราพยายามดึงสติตนเองกลับมาอยู่กับสิ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา สิ่งที่เราทำเองได้ในปัจจุบันและพยายามทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด เช่น การเตรียมตัวอ่านหนังสือ กำหนดตารางเวลาในชีวิตประจำวันเพื่อให้มีเวลาทบทวนเนื้อหาที่เรียน เวลาพักผ่อนและเวลาดูแลตนเอง วางแผนกำหนดระยะเวลาที่จะใช้เพื่อทบทวนแต่ละบทเรียนให้ทันก่อนสอบ การสร้างตารางที่ชัดเจนให้กับชีวิตประจำวันของเราจะช่วยให้เรารู้สึกว่าเรายังสามารถควบคุมสิ่งต่างๆในชีวิตได้
สำรวจตนเองว่าช่วงเวลาใดที่เราตื่นตัวได้ดีที่สุดแล้วพยายามใช้เวลาตรงนั้นในการอ่านหนังสือ รวมถึงสำรวจตนเองว่าสภาพแวดล้อมใดที่เหมาะกับการเรียนของเราได้มากที่สุด เราจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเราอยู่เงียบๆ หรืออยู่กับเพื่อนๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราลองหาเวลาอยู่เงียบๆหรือลองจับกลุ่มกับเพื่อนเพื่อทบทวนเนื้อหาด้วยกัน
4. การเห็นใจตัวเองเป็นสิ่งสำคัญและไม่ใช่เป็นการหาข้ออ้างให้กับตนเอง
สถานการณ์ความเครียดที่เกิดขึ้นกับเรานั้น เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก กดดัน และไม่แน่นอน หากใครไม่ได้เผชิญสถานการณ์แบบเดียวกับเราก็คงไม่สามารถเข้าใจเราได้
ดังนั้นการเห็นใจตนเองที่ต้องมาเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ผู้ที่ไม่เข้าใจบางคนอาจมองว่าเรากำลังหาข้ออ้างให้กับตนเองเพื่อเรียกร้องความเห็นใจเป็นพิเศษ ขอให้เราพยายามอย่าใส่ใจกับคำพูดของคนเหล่านั้นและอย่ารู้สึกผิดหากเราเกิดความสงสารหรือเห็นใจตนเอง และอยากที่จะให้เวลาดูแลจิตใจและร่างกายของเราให้มากกว่าเดิม


5. การดูแลตัวเองหรือให้ความสุขกับตัวเองไม่ใช่การเสียเวลา
การดูแลตัวเองและการให้ความสุขกับตนเองนั้นไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อน นอนหลับ หาความสุขให้กับชีวิตบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ทานอาหารที่ชอบ ไปเที่ยว หรือพักดูซีรีส์ต่างๆ ไม่ใช่การเสียเวลาแต่อย่างใด
หากเรากำหนดตารางและขอบเขตเวลาให้กับตนเองที่ชัดเจน เช่น เราจะให้เวลาตนเองในการพักผ่อน ทำกิจกรรมที่เราชอบประมาณหนึ่งหรือสองชั่วโมงหลังจากเราทบทวนเนื้อหาในบทนี้จบ การให้รางวัลกับตนเองจะช่วยผลักดันให้เราไปต่อได้
ในทางกลับกันการปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ใส่ตนเอง ทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการเรียน การอ่านหนังสือจนร่างกายและจิตใจไม่ได้พักอย่างเต็มที่ จะยิ่งทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้จดจำเนื้อหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยิ่งทำให้เสียเวลาไปมากกว่าเดิม โดยเฉพาะหากเราจะต้องมาเสียเวลากับความรู้สึกผิดต่างๆที่เกิดขึ้น
การดูแลตนเองนั้นรวมถึงการทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์แก่ผู้อื่นซึ่งจะช่วยให้เรารู้สึกดีต่อตนเองและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม เกิดเป็นความรู้สึกดีที่มีต่อตนเองและเป็นกำลังใจในการเผชิญกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
6. พูดคุยกับคนที่เข้าใจ
การดูแลตนเองอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ การได้พูดคุยกับคนที่เข้าใจเรา พยายามอย่าเก็บความเครียด ความกังวล ความหงุดหงิดใจไว้คนเดียว ลองนึกถึงคนรอบตัวที่เราจะสามารถพูดคุยและเปลี่ยนความรู้สึกให้แก่กันได้ บางคนจะคิดว่า พูดไปก็เท่านั้น สุดท้ายก็แก้ไขอะไรไม่ได้ หรือคิดว่า แต่ละคนก็มีปัญหากันอยู่แล้ว เราไม่อยากไปรบกวนใคร
ในความเป็นจริงแล้ว การได้คุยกับคนที่เข้าใจเราจะช่วยให้เราไม่รู้สึกว่าเราต้องเผชิญปัญหาอยู่คนเดียว ทำให้เรามีกำลังใจที่จะสู้ต่อและอยู่กับปัญหาได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันการที่เราแสดงความรู้สึกของเราให้ผู้อื่นฟังรวมถึงการรับฟังความรู้สึกของผู้อื่นก็เป็นการช่วยให้คนอื่นรับรู้ว่าเขาก็ไม่ได้เผชิญกับสิ่งนี้ตามลำพังเช่นกัน
อย่างไรก็ตามหากเรารู้สึกว่าคนรอบตัวของเราไม่มีใครเข้าใจเราเลย ก็อย่าพยายามเก็บความรู้สึกที่มีไว้เพียงลำพัง แต่ขอให้ไปพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ที่เข้าใจเรา อย่ากลัวที่จะขอรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือสามารถลองทำ แบบประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ ที่นี่
